วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

เซรามิกลำปาง ไม่โต ไม่ตาย ไม่สูญพันธุ์

อุตสาหกรรมเซรามิก ไม่โต ไม่เพิ่ม ไม่สูญพันธ์ 


หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มามากมายทั้งปัญหาภายในของตัวเอง และปัญหาภายนอกที่เป็นอุปสรรคในการเติบโตของอุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดลำปางอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนจุดที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดของอุตสาหกรรมเซรามิกคือปัญหาเรื่องต้นทุนในการผลิตและการไม่พัฒนาในเรื่องรูปแบบของผลิตภัณฑ์ อันเป็นที่มาของการถูกกดราคาจากลูกค้า

ผลิตแพงขายถูก อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เครื่องจักร แรงงาน และพลังงานมาก โดยเป็นต้นทุนที่เกิดกว่าร้อยละ 60 ของต้นทุนทั้งหมดจากราคาขายในปัจจุบันแต่ในขณะที่การขายผลิตภัณฑ์ถูกกำหนดราคาโดยผู้ซื้อ เนื่องจากในตลาดมีผู้ผลิตอยู่หลายรายด้วยกันและมักจะผลิตสินค้าที่คล้ายกันเป็นเหตุให้เกิดการเลือกซื้อด้วยราคา

ปัญหาหลัก

1. เครื่องจักรแต่ละรายการที่ใช้ในการผลิตสินค้ามีราคาแพงและมีการสึกหรอสูง รวมถึงเตาเผาเซรามิกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตเซรามิกที่มีการใช้และสึกหรอง่ายหากไม่ดูแลให้ดีจะส่งผลให้เกิดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก ซึ่งเป็นต้นทุนที่แฝงมาแบบผู้ผลิตไม่รู้ตัว การซ่อมแซมแต่ละครั้งเกิดค่าใช้จ่ายมากหากผู้ผลิตไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นจะเกิดปัญหาขาดทุนและจะลามไปสู่ปัญหาเงินหมุนเวียนในระยะยาว

2. แรงงาน หลายปีที่ผ่านมาค่าแรงงานปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลาในขณะที่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยังอยู่เท่าเดิม ประกอบกับราคาสินค้าที่จำหน่ายปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย และยังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลิตภัณฑ์ด้วย สามารถกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงด้านเดียวคือด้านต้นทุน แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคามากนัก จนปัจจุบัน การพัฒนาด้านคุณภาพแรงงานถึงขีดสูงสุดของแรงงานแล้ว หมายถึงไม่สามารถจะเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้อีก แต่ค่าจ้างต้องปรับสูงขึ้น จึงเกิดปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นในส่วนค่าจ้างแรงง่าน

3. พลังงาน เป็นปัจจัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากการผลิตเซรามิกจะต้องผ่านกระบวนการให้ความร้อนในระดับสูง โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาค่าพลังงานของประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อเทียบกับภูมิภาคใกล้เคียง ยกเว้นมาเลเซียอาจจะมองว่าค่าพลังงานของเราถูกกว่า แต่ค่าจ้างแรงงานเราสูงกว่ามาก จึงเป็นสาเหตุหลักที่เราไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนด้านพลังงานจากก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีเชื้อเพลิงทางอ้อมที่ใช้ เช่น เชื้อเพลิงสำหรับรถบรรทุก ทุกครั้งที่มีการปรับราคาเชื้อเพลิงเพิ่ม ผู้ผลิตมีต้นทุนสูงขึ้น เมื่อรวมกันหลายครั้งทำให้ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ต้องปรับราคาก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อวัตถุดิบและการขนส่งต่าง ๆ ของผู้ผลิตเซรามิกที่ต้องซื้อวัตถุดิบแพงขึ้น

สามปัจจัยนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดลำปางไม่เป็นที่น่าลงทุนอีกต่อไป โดยสามารถสังเกตุได้ว่าจำนวนของโรงงานที่เกิดขึ้นจะมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนโรงงานที่เลิกกิจการไป ประกอบกับการลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติมสำหรับการผลิตเกิดขึ้นน้อยเมื่อเทียบกับในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาและยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะนำมาเพิ่มเติมในบทที่ 2 อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้อุตสาหกรรมเซรามิกไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ต่อไป

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางไม่เป็นไปตามทิศทางที่ควรจะเป็นคือเกิดการพัฒนาในเชิงก้าวหน้านั้นมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งแต่ละปัจจัยล้วนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแทบทั้งสิ้น โดยบางเหตุปัจจัยจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำของตนเอง และบางปัจจัยเกิดจากภายนอกส่งผลกระทบ

เกือบสิบปีที่อุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดลำปางพยายามรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เซรามิก ที่สามารถเรียกได้ว่าอุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดลำปางเป็นคลัสเตอร์แรกของประเทศไทย เมื่อครั้งนั้น เราเคยประกาศให้เซรามิกลำปางเป็นหนึ่งในอาเซียนภายในปี 2555 (ปีนี้) ภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมเซรามิกของประเทศที่ดูเหมือนในช่วงเวลานั้นเป็นปีทอง อุตสาหกรรมเซรามิกเนื้อหอม ทั้งภาคการเงิน ภาครัฐต่างส่งเสริมกับแบบมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่การส่งเสริมที่กระจายมายังอุตสาหกรรมนี้กลับไม่เกิดผลมากเท่าที่ควร ก็ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างด้วยกัน

ปัญหาเสริม

1. ขาดการพัฒนารูปแบบ ในจังหวัดลำปางผู้ผลิตส่วนใหญ่จะทำสินค้าที่คล้ายกัน เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร อุปกรณ์ก่อสร้างประเภทลูกกรงเซรามิก หรือกระเบื้องปูพื้น จะมีแตกต่างบ้างก็ในส่วนของของชำร่วยที่มีความหลากหลายอยู่มาก การทำสินค้าที่คล้ายกันมาก ๆ จะทำให้อำนาจทางธุรกิจเป็นของผู้ซื้อมากขึ้น เนื่องจากมีสิค้าทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารประเภทถ้วยจานชามจะมีการแข่งขันด้านราคากันสูงมากเนื่องจากมีการลอกเลียนแบบกัน ทำสินค้าเหมือนกัน ต่างคนก็ต่างต้องการขายสินค้าของตัวเองให้ได้มาก ๆ ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะลดต้นทุนทั้งวัตถุดิบ และรูปแบบให้ผลิตเร็วและถูกจนทำให้เกิดปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพ

2. ทัศนคติของผุ้ประกอบการขาดการวางเส้นทางเดินในอนาคต ในการทำธุรกิจทุกแบบ ทุกประเภทมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับตัวตามกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเซรามิกมีน้อยมากที่จะเกิดแนวทางในการวางแผนเส้นทางเดินในธุรกิจของตัวเองว่าตัวเองจะเดินไปทางไหน และตั้งเป้าหมายเติบโตอย่างไร ผู้ประกอบการต่างมุ่งมั่นที่จะ ผลิตง่าย ขายเร็ว ราคาถูก อยู่ตลอดเวลา ด้วยการลดต้นทุนในการผลิตจนกระทั่งสินค้าไม่มีคุณภาพ โดยไม่ลงทุนสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์แล้วค่อยขายในราคาสูงเหมือนที่หลาย ๆ ผู้ประกอบการทำและประสบความสำเร็จ

3. Copy and Sale ต้นเหตุของการไม่พัฒนา มีตัวอย่างเกิดขึ้นมากมายในอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปาง ทั้งรูปแบบและลวดลาย ปัญหานี้มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งแรงงานที่เกิดการเปลี่ยนนายจ้างจะนำทั้งวิธีการผลิต รูปแบบ ลวดลายไปถ่ายทอดให้อีกโรงงานหนึ่งและผู้ประกอบการเองตั้งใจทำการลอกเลียนแบบก็มีผ่านผู้รับจ้างทำต้นแบบ หรือดำเนินการเองในโรงงาน ในปัจจุบันที่เห็นภาพชัดที่สุดคือ สินค้าเณรน้อยที่เดิมมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวแต่ในปัจจุบันมีการผลิตในหลายโรงงานด้วยกัน และราคาเมื่อเริ่มต้นผลิตจะมีราคาสูง ต่อมาเมื่อผลิตหลายโรงงานจึงเกิดการแข่งขันด้านราคา จึงลดต้นทุนลงหลายอย่าง เช่นเผาอุณหภูมิที่ต่ำลง ใช้สีไม่มีคุณภาพ และอื่น ๆ จึงทำให้คุณภาพของสินค้าด้อยลงเรื่อย ๆ อันที่จริงการผลิตเณรก็ใช้อุณหภูมิในการเผาต่ำอยู่แล้วจนสามารถเรียกได้ว่าคือดินเผาซึ่งแตกหักง่าย เมื่อลดอุณหภูมิลงอีกก็ยิ่งขาดความแข็งแรง และสามารถทำนายได้ไม่ยากเย็นนักว่า ผลิตภัณฑ์นี้โตเร็วก็จบเร็วเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตรายแรกๆ ก็มีการพัฒนาต่อยอดไปอีกเป็นองค์เทพต่าง ๆ ต่อไป และก็มีนัก CS ที่รอรับช่วงอีกทอดหนึ่ง

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมเซรามิกของลำปางมีความสามารถลดลงมาโดยตลอดในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาจะเป็นวิกฤติที่ซึมลึกและยาวนานจนแก้ไขได้ยากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแก้ไขไม่ได้แต่ต้องให้เวลาและการส่งเสริมอย่างจริงจัง

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

อุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดลำปางก็คงยังดำเนินต่อไป แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงต้นทุนในการผลิตอย่างก้าวกระโดดก็ตาม แต่การผลิตของอุตสาหกรรมเซรามิกในอนาคตก็คงไม่แตกต่างไปจากหลาย ๆ ประเทศที่เคยผ่านสถานการณ์แบบที่อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน และทิศทางเดียวที่จะคงอยู่ในอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคือความเปลี่ยนแปลงหลายด้านในอนาคตที่ไม่ไกลมากนัก

จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าด้วยรูปแบบและลวดลาย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกบังคับด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การผลิตแบบเดิม ๆ ขาดความประณีตในผลิตภัณฑ์ จะหายไปหรือลดน้อยลงเพราะจะเกิดความชัดเจนเรื่องความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งผู้ผลิตจะต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อคิดถึงลักษณะการใช้งานและมีความแตกต่างในตลาดเดียวกัน และเพิ่มความคิดเรื่องกระบวนการผลิตให้มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดเทคนิคในการผลิตจะถูกนำมาใช้งานมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันกระบวนการคัดลอกผลิตภัณฑ์ในตลาดเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ห้ามคัดลอกสินค้าจะยากกว่าการเพิ่มเติมเทคนิคในการผลิตให้ซับซ้อนมากขึ้น

ผู้ประกอบการบางส่วนจะเปลี่ยนประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ทำ ธรรมชาติของอุตสาหกรรมเซรามิกมีการผลิตเพื่อนำมาใช้ในหลายประเภทสินค้า แต่ส่วนใหญ่ของการผลิต เพื่อใช้ภายในบ้านเช่น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ขอชำร่วย ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์ก่อสร้าง นอกเหนือจากที่กล่าวมา เซรามิกยังสามารถไปทำผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างไปจากเดิมได้อีกมากมาย เช่นสวิตช์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ เครื่องประดับ เครื่องใช้ในครัว เฟือง ใบมีด ส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์ที่มีการสึกหรอสูง และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เคยรู้ว่ามีสิ่งของลักษณะเช่นนี้ ทั้งปวงต่างก็เป็นการเพิ่มมูลค่าในการผลิตมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตบางส่วนจะเปลี่ยนแปลงไปผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จะมีการเพิ่มนวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์ เป็นวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวสินค้า ในสินค้าชนิดเดียวกัน การเพิ่มเติมประโยชน์ในการใช้สอย หรือเพิ่มเติมลักษณะเด่นเฉพาะของตัวสินค้าจะสามารถขายสินค้ามีราคามากขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ในผู้ผลิตหลายรายของประเทศทางยุโรป ที่มีการนำผลิตภัณฑ์มาใช้ประโยชน์แตกต่างไปจากเดิม ตรงนี้จะต้องมีการสร้างและเพิ่มเติมแนวความคิดให้แก่ผู้ประกอบการร่วมกับนักออกแบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ตลาดในน่านน้ำสีแดงจะลดความรุนแรงลง เนื่องจากบทเรียนที่ผ่านมาทำให้ผู้ผลิตต่างเกิดความสูญเสีย ทั้งโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ และโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งในธุรกิจของตัวเอง

ผู้ผลิตบางส่วนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นผู้จำหน่ายสินค้าเซรามิกทั้งจากการซื้อในประเทศและการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากประเทศจีน ที่มีความชำนาญในการผลิตจำนวนมาก และสามารถจำหน่ายได้ในราคาถูก และเป็นที่ต้องการของตลาดที่แตกต่างไปจากเดิม (ลำปางไม่ผลิต)

สร้างตราสัญลักษณ์ของตัวเองเป็นคำตอบที่มั่นคงมากที่สุด แต่การจะเป็นสู่การสร้างตราสัญลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ตนเองจนเป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นเรื่องที่ใช้เวลาและความน่าเชื่อถือ ที่ดูเหมือนจะไกลมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ในช่วงชีวิตของคน

สุดท้ายของการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการที่มีลักษณะ จิ๋วแต่แจ๋วเท่านั้นที่จะอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์ต้นทุนในการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และเป็นเรื่องสำคัญที่จะพัฒนาความยั่งยืนในธุรกิจด้วยการพัฒนาแนวความคิดของผู้ประกอบการไปด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงครั้งรุนแรงของอุตสาหกรรมเซรามิกของลำปางที่เน้นการผลิตแบบต้นทุนต่ำ

ปล. ไก่ในรูปหันหน้าเข้าหากัน แปลว่าทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือกันสร้างธุรกิจที่ตัวเองเป็นเจ้าของให้ดีครับ

เครดิตข้อมูล : Adhipoom Kamthornvorarin

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อุตฯเซรามิกลำปางยอดขายวูบ 1,400 ล้าน ต้นทุนผลิตพุ่ง- 3ปี ทยอยปิดโรงงาน 50 แห่ง

พิษเศรษฐกิจทุบอุตฯเซรามิกลำปางอ่วมหนัก กำลังซื้อนิ่ง ยอดขายในประเทศ-ส่งออกร่วง 30-40% สูญรายได้กว่า 1,400 ล้าน เผยในช่วง 2-3 ปีก่อนโรงงานทยอยปิด 50 โรง จ่อหยุดกิจการชั่วคราวมากขึ้น ประคองธุรกิจออร์เดอร์ปลายปี ขณะที่แรงงานฝีมือเริ่มขาดแคลน วอนรัฐหนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพคล่อง



นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีศิลป์ เซรามิก จำกัด และประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางในช่วงครึ่งปีนี้อยู่ในภาวะทรงตัว ยอดขายลดลง 30-40% หรือสูญรายได้ไปราว 1,400 ล้านบาท จากยอดขายเซรามิกของจังหวัดลำปางที่มีมูลค่าต่อปีประมาณ 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นขายตลาดในประเทศ 2,000 ล้านบาทและ การส่งออก 1,500 ล้านบาท และมีแนวโน้มค่อนข้างซบเซาทั้งตลาดในประเทศและส่งออก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ลดกำลังการผลิตมาอย่างต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ต้นทุนค่าแรง และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบและพลังงานที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงเริ่มนิ่ง แต่ก็หยุดนิ่งในระดับสูง ผู้ประกอบการไม่สามารถจะปรับราคาสินค้าได้มากนัก เพราะการแข่งขันสูงมาก

ขณะที่ปัญหาสำคัญอีกด้านคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งขณะนี้ไม่มีแรงงานใหม่เข้ามาในระบบการผลิตเลย สาเหตุจากการขยายตัวของภาคธุรกิจค้าปลีก ภาคการเกษตร และการกู้ยืมเรียนของรัฐบาล ทำให้แรงงานใหม่เข้าไปสู่ภาคธุรกิจอื่น ปัจจุบันเหลือแรงงานในระบบอุตสาหกรรมเซรามิกของลำปางราว 7,000 คน จากเมื่อก่อนที่มีอยู่ราว 10,000 คน และมีโอกาสสูงที่ผู้ประกอบการหลายรายอาจจะต้องหยุดกิจการแบบชั่วคราว และหยุดกิจการในระยะยาว เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นให้แก่ผู้ประกอบการเหล่านั้น

นายอธิภูมิกล่าวว่า โรงงานเซรามิกในลำปาง แบ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ 20% ขนาดกลาง 20% และโรงงานขนาดเล็ก 60% ซึ่งเป็นกิจการที่ทำกันในครัวเรือน ส่วนใหญ่เน้นผลิตถ้วย-ชาม หรือ แก้วเซรามิค ที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม ไม่เน้นเรื่องดีไซน์หรือคุณภาพมากนัก

ขณะที่โรงงานขนาดกลาง ปรับตัวด้วยการให้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อลดต้นทุนค่าแรง ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ก็เริ่มมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานลงเป็นบางวัน เพื่อรักษาแรงงานเดิมไว้ โดยยังไม่มีการเลิกจ้างแรงงาน เป็นช่วงของการประคองธุรกิจ เพื่อรอออร์เดอร์เข้ามาในช่วงปลายปีซึ่งเป็น High season

ด้านที่ปรึกษานายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง นายธนโชติ วนาวัฒน์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางในขณะนี้อยู่ในสภาพประคับประคองตัว ซึ่งสัดส่วนตลาดในประเทศที่มีราว 80% และส่งออก 20% มียอดขายลดลงอย่างมากเกือบ 40% โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่เป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมเซรามิกลำปางทั้งระบบ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทยอยปิดกิจการไปแล้วราว 50 โรงงาน สาเหตุจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน ค่าแรง และขาดแคลนแรงงานฝีมือ ปัจจุบันเหลือโรงงานเซรามิกในลำปางราว 180-200 โรงงาน แต่ในครึ่งปีนี้ยังไม่พบการปิดกิจการ เป็นการรอโอกาสที่จะขายในช่วงปลายปีที่จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิด AEC ปลายปีนี้ น่าจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเซรามิกไทยที่จะเปิดตลาดในกลุ่มนี้ได้มากขึ้น

สมาคมต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์เซรามิกลำปาง และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ และประคับประคองธุรกิจให้ได้ เพื่อรอกำลังซื้อกลับคืนมา นายธนโชติกล่าว

เครดิตข้อมูล : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1439384849