วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อุตฯเซรามิกลำปางยอดขายวูบ 1,400 ล้าน ต้นทุนผลิตพุ่ง- 3ปี ทยอยปิดโรงงาน 50 แห่ง

พิษเศรษฐกิจทุบอุตฯเซรามิกลำปางอ่วมหนัก กำลังซื้อนิ่ง ยอดขายในประเทศ-ส่งออกร่วง 30-40% สูญรายได้กว่า 1,400 ล้าน เผยในช่วง 2-3 ปีก่อนโรงงานทยอยปิด 50 โรง จ่อหยุดกิจการชั่วคราวมากขึ้น ประคองธุรกิจออร์เดอร์ปลายปี ขณะที่แรงงานฝีมือเริ่มขาดแคลน วอนรัฐหนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพคล่อง



นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีศิลป์ เซรามิก จำกัด และประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางในช่วงครึ่งปีนี้อยู่ในภาวะทรงตัว ยอดขายลดลง 30-40% หรือสูญรายได้ไปราว 1,400 ล้านบาท จากยอดขายเซรามิกของจังหวัดลำปางที่มีมูลค่าต่อปีประมาณ 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นขายตลาดในประเทศ 2,000 ล้านบาทและ การส่งออก 1,500 ล้านบาท และมีแนวโน้มค่อนข้างซบเซาทั้งตลาดในประเทศและส่งออก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ลดกำลังการผลิตมาอย่างต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ต้นทุนค่าแรง และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบและพลังงานที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงเริ่มนิ่ง แต่ก็หยุดนิ่งในระดับสูง ผู้ประกอบการไม่สามารถจะปรับราคาสินค้าได้มากนัก เพราะการแข่งขันสูงมาก

ขณะที่ปัญหาสำคัญอีกด้านคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งขณะนี้ไม่มีแรงงานใหม่เข้ามาในระบบการผลิตเลย สาเหตุจากการขยายตัวของภาคธุรกิจค้าปลีก ภาคการเกษตร และการกู้ยืมเรียนของรัฐบาล ทำให้แรงงานใหม่เข้าไปสู่ภาคธุรกิจอื่น ปัจจุบันเหลือแรงงานในระบบอุตสาหกรรมเซรามิกของลำปางราว 7,000 คน จากเมื่อก่อนที่มีอยู่ราว 10,000 คน และมีโอกาสสูงที่ผู้ประกอบการหลายรายอาจจะต้องหยุดกิจการแบบชั่วคราว และหยุดกิจการในระยะยาว เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นให้แก่ผู้ประกอบการเหล่านั้น

นายอธิภูมิกล่าวว่า โรงงานเซรามิกในลำปาง แบ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ 20% ขนาดกลาง 20% และโรงงานขนาดเล็ก 60% ซึ่งเป็นกิจการที่ทำกันในครัวเรือน ส่วนใหญ่เน้นผลิตถ้วย-ชาม หรือ แก้วเซรามิค ที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม ไม่เน้นเรื่องดีไซน์หรือคุณภาพมากนัก

ขณะที่โรงงานขนาดกลาง ปรับตัวด้วยการให้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อลดต้นทุนค่าแรง ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ก็เริ่มมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานลงเป็นบางวัน เพื่อรักษาแรงงานเดิมไว้ โดยยังไม่มีการเลิกจ้างแรงงาน เป็นช่วงของการประคองธุรกิจ เพื่อรอออร์เดอร์เข้ามาในช่วงปลายปีซึ่งเป็น High season

ด้านที่ปรึกษานายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง นายธนโชติ วนาวัฒน์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางในขณะนี้อยู่ในสภาพประคับประคองตัว ซึ่งสัดส่วนตลาดในประเทศที่มีราว 80% และส่งออก 20% มียอดขายลดลงอย่างมากเกือบ 40% โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่เป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมเซรามิกลำปางทั้งระบบ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทยอยปิดกิจการไปแล้วราว 50 โรงงาน สาเหตุจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน ค่าแรง และขาดแคลนแรงงานฝีมือ ปัจจุบันเหลือโรงงานเซรามิกในลำปางราว 180-200 โรงงาน แต่ในครึ่งปีนี้ยังไม่พบการปิดกิจการ เป็นการรอโอกาสที่จะขายในช่วงปลายปีที่จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิด AEC ปลายปีนี้ น่าจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเซรามิกไทยที่จะเปิดตลาดในกลุ่มนี้ได้มากขึ้น

สมาคมต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์เซรามิกลำปาง และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ และประคับประคองธุรกิจให้ได้ เพื่อรอกำลังซื้อกลับคืนมา นายธนโชติกล่าว

เครดิตข้อมูล : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1439384849